Outbound Links

Outbound Links คืออะไร ?

เพื่อนๆอาจเคยไปอ่านเจอตามเว็บบอร์ด SEO อยู่บ่อยครั้ง เกี่ยวกับการที่มีนักทำ SEO เก่งๆได้พูดถึงเรื่องของ Outbound Links มือใหม่พึ่งเข้าวงการมาอาจจะงงเกี่ยวกับศัพท์ต่างๆที่ไม่คุ้นหู หรือแม้แต่เรื่องของ Outbound Links เองก็ตาม มันคืออะไรหว่า.. ? แล้วมันมีผลเกี่ยวกับการทำอันดับให้เว็บไซต์ของเราได้อย่างไร สำหรับเรื่องราวของ Outbound Links ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยเลย เราจำเป็นต้องรู้ว่ามันมีผลกระทบอย่างไรต่ออันดับของเราบนหน้า SERP เพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาทำความรู้จักกันเลยดีกว่า จะได้เก่ง SEO กันไปอีก 1 เรื่อง

Outbound Links หากแปลตามตัวของคำศัพท์ มันแปลว่าการเชื่อมโยงขาออก ในทางวงการ SEO เราจะหมายถึงลิงค์ที่เชื่อมโยงไปยังเว็บอื่น มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ในแต่ละเว็บไซต์จะมีการพูดถึงเว็บอื่น อย่างเช่นเว็บเราทำเกี่ยวกับสูตรอาหาร แล้วเราดันไปเจอสูตรทำอาหารสูตรหนึ่งที่น่าสนใจมากจากเว็บต่างประเทศ เราเลยเอาข้อมูลเขามาแปลเป็นภาษาไทย เขียนลงบนเว็บไซต์ของเราและทิ้งท้ายบทความโดยการให้เครดิตเว็บไซต์ที่เราไปเอาข้อมูลเขามาแปล หากเว็บไซต์ที่เราทิ้งท้ายไว้มีการทำเป็นลิงค์ที่สามารถคลิกไปยังเว็บปลายทางได้ เราก็จะเรียกสิ่งนี่ว่า “ลิงค์ขาออก” หรือ “Outbound Links” นั่นเอง

ความสำคัญของ Outbound Links ในเรื่องของ SEO

การที่เว็บไซต์ของเรามี Outbound Links อยู่บ้าง ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญอยู่ไม่น้อย มันคงจะแปลกมากถ้าเว็บไซต์ของเรามีข้อมูลมหาศาล แต่กลับไม่มีลิงค์ออกไปยังเว็บอื่นเลยแม้แต่ลิงค์เดียว นี่ถ้าเว็บไซต์ของเราไม่มี Backlinks จากเว็บอื่นโยงเข้ามาด้วยก็คงจะเปรียบเหมือนเว็บที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีลิงค์ไปหาคนอื่น และคนอื่นก็ไม่โยงลิงค์มาหาเรา ในเรื่องของผลลัพธ์ทาง SEO คงไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่นอน ความเป็นธรรมชาติของเว็บไซต์ควรจะต้องมีการทำ Outbound Links ออกไปยังเว็บไซต์อื่นๆไว้บ้าง เว็บไหนมีเนื้อหาที่ดี ดูน่าสนใจและน่านำมาบอกต่อ ก็ควรทำลิงค์ขาออกจากเว็บเราไปยังเว็บไซต์เหล่านั้น และพวกเว็บที่เราไปเอาบทความเขามารีไรท์ใหม่เพราะเห็นความบทความมีสาระน่าสนใจ ก็ควรให้เครดิตเว็บไซต์เหล่านั้นด้วยการทำลิงค์ออกไปยังเว็บไซต์เหล่านั้น

Outbound Links ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญ เมื่อก่อน นักทำ SEO ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าถ้าเราทำลิงค์ออกก็เหมือนถ่ายเทค่าพลังจากเว็บเราไปให้เว็บอื่น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริง แต่มันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น สมัยที่ Google ยังโชว์ค่า PR ของหน้าเว็บไซต์ เราไปยึดติดกันมากเกิน ส่วนใหญ่พยายามไม่สร้างลิงค์ออกนอกเว็บเพราะกลัวว่าค่า PR จะลดลง แต่ลืมคำนึงถึงความเหมาะสมในตัวเว็บไซต์ไปว่าถ้าเว็บเรามีเป็น 10 หมวดหมู่ 100 บทความ แต่ไม่มีลิงค์โยงไปแห่งอื่น มันจะดูค่อนข้างผิดปกติไม่น้อย ปัจจุบัน Google ได้ทำการซ่อนค่า PR ไม่ให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถดูได้แล้ว แต่ค่า PR ยังถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวนอันดับอยู่ จะโชว์เฉพาะในระบบของ Google เท่านั้น การปิดค่า PR ไม่ให้คนทั่วไปดูได้ ส่งผลให้นักทำ SEO เริ่มลดความขี้เหนียวลิงค์ออกลง สมัยนี้มีการนิยมให้เครดิตเว็บอื่นกันมากยิ่งขึ้น อาจเป็นเพราะไม่มีอะไรให้มายึดติดกับเรื่องลิงค์ออกเท่าเมื่อก่อนแล้ว

สมดุลของการทำ Outbound Links

ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะแนะนำให้นักทำ SEO หน้าใหม่หน้าเก่าทั้งหลาย ควรรู้จักและทำ Outbound Links ให้กับเว็บของเราไว้บ้าง แต่ก็ต้องดูปริมาณลิงค์ขาออกให้ดีด้วย ให้เราเอามาเปรียบเทียบกับขนาดของเว็บไซต์เรา หากเว็บเรามีเพียง 2-3 บทความ พึ่งสร้างเว็บใหม่ แต่กลับทำลิงค์ขาออก 30-40 ลิงค์เลย แบบนี้ก็อาจไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ เราควรดูขนาดเว็บของเราด้วย หากเว็บเรามี 10 บทความ ลิงค์ขาออกควรมีสัก 1-3 ลิงค์ก็พอแล้ว บทความเว็บเยอะขึ้นก็มีลิงค์ขาออกเยอะตาม

อย่างไรก็ดี เราไม่จำเป็นต้องมานั่งเครียดคำนวนเรื่องจำนวน Outbound Links ของเว็บไซต์เราให้ปวดหัว เราเพียงแค่ทำเว็บของเราไปเรื่อยๆ ข้อมูลไหนน่าสนใจที่อยากนำมาฝากผู้ใช้งานเว็บไซต์ของเรา ก็เพียงนำมาเขียนลงเว็บและให้เครดิตเป็นลิงค์ขาออกเขากลับไปก็พอ ถ้าใน 10 บทความที่เราเขียนลงเว็บ เป็นเรื่องราวที่เราคิดและเขียนมันขึ้นมาเอง ก็ไม่จำเป็นต้องไปเขียนเครดิตให้ใครมั่ว เพราะเราคิดและเขียนบทความเอง จะไปให้เครดิตใครล่ะนอกจากเว็บของเราเอง ส่วนของเนื้อหาบทความที่ไม่ใช่เครดิตทิ้งท้าย เราอาจจะมีการโยงลิงค์ขาออกไปในเว็บที่เกี่ยวข้องบ้างก็ได้ เช่น มีลิงค์ไป Wikipedia จากคำศัพท์เฉพาะในบทความของเรา เพื่อให้คนที่เข้ามาอ่านแล้วเกิดความสงสัยในคำศัพท์เฉพาะเหล่านั้น สามารถคลิกที่คำศัพท์เพื่อไปดูความหมายหรือคำขยายความของคำศัพท์นั้นเพิ่มเติมได้ง่ายกว่าการ Copy คำไปค้นหาใน Google ด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีขั้นตอนมากกว่า หากเราสามารถออกแบบเนื้อหาเว็บและวางตำแหน่งเรื่องของ Outbound Links ได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้ผู้ใช้งานติดใจเว็บของเรา ผลลัพธ์ที่ตามมาคือมันมักจะส่งผลให้คะแนน SEO ด้านอื่นดีไปด้วย